Thursday, February 3, 2011

มัทนะพาธา ตำนานดอกกุหลาบของไทย

005
ภาพนางมัทนา จากงานโฆษณาของบรั่นดี รีเจนซี่ (สวยมาก)
มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องค์ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อพ.ศ.2466  บทละครเรื่องนี้ทางวรรณคดีสโมสรได้ยกย่องไว้ในประกาศนียบัตร ซึ่งคณะกรรมการวรรณคดีสโมสรได้ทูลเกล้าฯ ถวายองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ มีความบางตอนดังนี้

“ วรรณคดีสโมสร ได้ยกย่องว่า เป็นหนังสือแต่งดี เพราะทรงพระราชดำริ ให้ใช้คำฉันท์ เป็นละครพูด อันเป็นของแปลก ในกระบวนวรรณคดี และแต่งได้โดยยาก ยังไม่เคยมีกวีคนใด ได้พยายามแต่งมาแต่ก่อน อีกประการหนึ่ง ในทางภาษา ซึ่งปรุงชื่อตัวละคร และภูมิประเทศ ถูกต้องตามยุคแห่งภารตวรรษ อันจำนงให้เป็นตัวเรื่อง นับว่ารูปเรื่องปรุงดี จะแต่งได้ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ และสุตาญาณ อันกว้างขวาง”
และในบทพระราชนิพนธ์นำ (บทนำ) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าความเป็นมาของบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา ไว้ดังนี้
ละครเรื่องนี้ไม่ใช้ได้เนื้อเรื่องหรือตัดตอนมาจากแห่งใดๆ เลย จึงขอบอกใว้ให้ผู้อ่านทราบเพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวค้นหาเรื่องนี้ในหนังสือโบราณใดๆ แก่นแห่งเรื่องนี้ ได้เคยมีติดอยู่ในใจของข้าพเจ้ามาช้านานแล้ว แต่เพราะเหตุต่างๆ ซึ่งไม่จำจะต้องแถลงในที่นี้ ข้าพเจ้ามิได้ลงมือแต่งเรื่องนี้, จนมาเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อได้บังเกิดมีเหตุบังคับให้ข้าพเจ้าต้องอยู่นิ่งๆ เงียบๆ ข้าพเจ้าจึงได้หวลนึกถึงเรื่องนี้,  เมื่อนึกตั้งโครงเรื่องขึ้นได้แล้ว ได้เกิดมีปัญหาขึ้นว่า จะให้นางในเรื่องนี้ถูกสาบเป็นดอกไม้อย่างใด มีผู้เห็นกันโดยมากว่าควรให้เป็นดอกกุหลาบ เพราะเป็นดอกไม้ที่คนทั้งโลกทุกชาติทุกภาษาว่างามและหอมชื่นใจยิ่งกว่าดอกไม้อย่างอื่นๆ ฯลฯ”
“ก่อนที่ได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น ข้าพเจ้าได้นึกไว้ว่าจะให้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้ แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่า ดอกกุหลาบคือ “กุพชะกะ” เลยต้องเปลี่ยนความคิด , เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า “กุพชกา” ก็จะกลายเป็นนางค่อมไป ข้าพเจ้าจึงค้นหาดูศัพท์ต่างๆ ที่พอจะใช้ได้เป็นนามสตรี ตกลงเลือกเอา “มัทนา” จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่า ความลุ่มหลงหรือความรัก พะเอินในขณะที่คันนั้นเองก็ได้พบคำศัพท์ “มทนะพาธา” ซึ่งโมเนียร์ วิลเลี่ยมส์ แปลไว้ว่า  “the pain or disquietude of love” (ความเจ็บหรือเดือนร้อนแห่งความรัก) ซึ่งข้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องทีเดียว เรื่องนี้จึงได้นามว่า  “มัทนะพาธา” หรือ ตำนานแห่งดอกกุหลาบ ด้วยประการฉะนี้”
หมายเหตุ: ขณะทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงประชวรจึงเป็นเหตุให้ต้อง “ บังเกิดมีเหตุบังคับให้ข้าพเจ้าต้องอยู่นิ่งๆ เงียบๆ”
181
ภาพวาดนางมัทนา ในหนังสือนางในวรรณดี
spd_20080519174029_b
หน้าปกหนังสือ มัทนะพาธา หนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
มัทนะพาธา เนื้อเรื่องแสดงให้เห็นถึงพิษร้าย อันเนื่องมาจากความรัก ความมั่นคงในรัก และการยอมทุกสิ่งเพื่อให้คงไว้ซึ่งความรัก โดยเนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น 2ภาค  คือ สวรรค์ และ ภาคบนโลกมนุษย์
ภาคสวรรค์ จะเป็นการพูดถึง “สุเทษณ์” เทพที่หลงรักเทพธิดา  “มัทนา”  แม้จิระรถสารถีคู่บารมีจะนำรูปของเทพเทวีผู้เลอโฉมหลายต่อหลายองค์มาถวาย   แต่จอมเทพสุเทษณ์ก็ไม่สนใจ สุเทษณ์ให้มายาวินซึ่งเป็นวิทยาธรใช้เวทมนตร์เรียกนางมัทนามาหา เมื่อมาแล้วนางมัทนาก็เหม่อลอยไม่มีสติสมบูรณ์เพราะตกอยู่ในฤทธิ์เวทมนต์ของมายาวิน ซึ่งเทพสุเทษณ์ไม่ต้องการได้นางด้วยวิธีนั้น จึงให้มายาวินคลายมนตร์ เมื่อได้สติ นางมัทนาก็ปฏิเสธรัก แม้ว่าเทพสุเทษณ์จะเกี้ยวพาและรำพันรักอย่างไร สุเทษณ์โกรธนักจึงจะสาปมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์ มัทนาขอให้นางได้ไปเกิดเป็นดอกไม้มีกลิ่นกลิ่นหอมเพื่อให้มีประโยชน์บ้าง สุเทษณ์จึงสาปมัทนาให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลายที่งามทั้งกลิ่นทั้งรูป และมีแต่เฉพาะบนสวรรค์ยังไม่เคยมีบนโลกมนุษย์ โดยทุกๆ 1 เดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้ชั่ว 1 วัน 1 คืน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เท่านั้น และถ้านางมีความรักเมื่อใด ก็จะไม่ต้องคืนรูปเป็นกุหลาบอีก แต่นางจะได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความรักจนมิอาจทนอยู่ได้ และเมือนั้นถ้านางอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ เทพสุเทษณ์จึงจะงดโทษให้แก่นางมัทนา
ภาคโลกมนุษย์ เป็นเรื่องที่พูดถึง   
นางมัทนาไปจุติเป็นกุหลาบงามอยู่ในป่าหิมะวัน บรรดาศิษย์ของฤษีนามกาละทรรศินมาพบเข้าจึงนำความไปบอกพระอาจารย์ กาละทรรศินจึงให้ขุดไปปลูกในบริเวณอาศรมของตน ในขณะที่จะทำการขุดก็มีเสียงผู้หญิงร้อง กาละทรรศินเล็งญาณดูก็รู้ว่าเป็นเทพธิดามาจุติ จึงได้เอ่ยเชิญและสัญญาว่าจะคอยดูแลปกป้องสืบไป การขุดจึงสำเร็จด้วยดี และทุกวันเพ็ญนางมัทนาซึ่งได้กลายร่างเป็นคนจะคอยปรนนิบัติรับใช้ฤาษีกาละทรรศินอยู่เสมอ
วันเพ็ญในเดือนหนึ่งท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งหัสตินาปุระได้เสด็จออกล่าสัตว์ในป่าหิมะวันและได้แวะมาพักที่อาศรมพระฤษี ครั้นได้เห็นนางมัทนาในโฉมของนารีผู้งดงามก็ถึงกับตะลึงและตกหลุมรัก จนถึงกับรับสั่งให้มหาดเล็กปลูกพลับพลาพักแรมไว้ใกล้อาศรมนั้นทันที
ท้าวชัยเสนรำพันถึงความรักลึกซึ้งที่มีต่อนางมัทนา ครั้นเมื่อนางมัทนาออกมาที่ลานหน้าอาศรมก็มิเห็นผู้ใด ด้วยเพราะท้าวชัยเสนหลบไปแฝงอยู่หลังกอไม้ นางมัทนาได้พรรณาถึงความรักที่เกิดขึ้นในใจอย่างท่วมท้น ท้าวชัยเสนได้สดับฟังทุกถ้อยความจึงเผยตัวออกมาทั้งสองจึงกล่าวถึงความรู้สึกอันล้ำลึกในใจที่ตรงกันจนเข้าใจในรักที่มีต่อกัน จากค่ำคืนถึงยามรุ่งอรุณ ท้าวชัยเสนจึงทรงประกาศหมั้นและคำสัญญารัก ณ ริมฝั่งลำธารใกล้อาศรมนั้น  เมื่อมีความรักแล้ว นางมัทนาก็ยังคงรูปเป็นนารีผู้งดงาม มิต้องกลายรูปเป็นกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนได้ทูลขอนางมัทนา พระฤาษีก็ยกให้โดยให้จัดพิธีบูชาทวยเทพและพิธีวิวาหมงคลในป่านั้น

ท้าวชัยเสนเสด็จกลับวังแล้วแต่ก็มิได้เสด็จไปยังพระตำหนักข้างในด้วยว่ายังทรงประทับอยู่แต่ในอุทยาน พระนางจัณฑี มเหสีให้นางกำนัลมาสืบดูจนรู้ว่าทรงนำสาวชาวป่ามาด้วย จึงตามมาพบท้าวชัยเสนกำลังอยู่กับนางมัทนาพอดี เมื่อพระนางจัณฑีเจรจาค่อนขอดดูหมิ่นนางมัทนา ท้าวชัยเสนก็กริ้วและทรงดุด่าว่าเป็นมเหสีผู้ริษยา  พระนางจัณฑีแค้นใจนัก ให้คนไปทูลฟ้องพระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งมคธนครให้ยกทัพมาทำศึกกับท้าวชัยเสน จากนั้นก็คบคิดกับนางค่อมอราลีและวิทูรพราหมณ์หมอเสน่ห์ ทำอุบายกลั่นแกล้งนางมัทนาโดยส่งหนังสือไปทูลท้าวชัยเสนว่านางมัทนาป่วย ครั้นเมื่อท้าวชัยเสนรีบเสด็จกลับมาเยี่ยมนางมัทนา ก็กลับพบหมอพราหมณ์กำลังทำพิธีอยู่ใกล้ๆต้นกุหลาบ วิทูรกับนางเกศินีข้าหลวงของนางจัณฑีจึงทูลใส่ความว่านางมัทนาให้ทำเสน่ห์เพื่อให้ได้ร่วมชื่นชูสมสู่กับศุภางค์  ท้าวชัยเสนกริ้วมาก  รับสั่งให้ศุภางค์ประหารนางมัทนาแต่ศุภางค์ไม่ยอม ท้าวชัยเสนจึงสั่งประหารทั้งคู่
พระนางจัณฑีได้ช่องรีบเข้ามาทูลว่าจะอาสาออกไปห้ามศึกพระบิดาคงเข้าใจผิดว่านางกับท้าวชัยเสนนั้นบาดหมางกัน แต่ท้าวชัยเสนตรัสว่าทรงรู้ทันอุบายของนางที่คิดก่อศึกแล้วจะห้ามศึกเอง พระองค์จะขอออกทำศึกอีกคราแล้วตัดหัวกษัตริย์มคธพ่อตาเอามาให้นางผู้ขบถต่อสวามีตนเอง
ขณะตั้งค่ายรบอยู่ที่นอกเมือง วิทูรพรหมณ์เฒ่าได้มาขอเข้าเฝ้าท้าวชัยเสนเพื่อสารภาพความทั้งปวงว่าพระนางจัณฑีเป็นผู้วางแผนการร้าย ซึ่งในที่สุดแล้วตนสำนึกผิดและละอายต่อบาปที่เป้นเหตุให้คนบริสุทธิ์ต้องได้รับโทษประหาร
ท้าวชัยเสนทราบความจรืงแล้วคั่งแค้นจนดำริจะแทงตนเองให้ตาย แต่อำมาตย์นันทิวรรธนะเข้าห้ามไว้ทันและสารภาพว่าในคืนเกิดเหตุนั้นตนละเมิดคำสั่ง มิได้ประหารศุภางค์และนางมัทนา หากแต่ได้ปล่อยเข้าป่าไป ซึ่งนางมัทนานั้นได้โสมะทัตศิษญ์เอกของฤษีกาละทรรศินนำพากลับสู่อาศรมเดิม แต่ศุภางค์นั้นแฝงกลับเข้าไปร่วมกับกองทัพแล้วออกต่อสู้กับข้าสึกจนตัวตาย
ท้าวชัยเสนจึงรับสั่งให้ประหารท้าวมคธที่ถูกจับมาเป็นเชลยไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนพระนางจัณฑีมเหสีนั้นทรงให้เนรเทศออกนอกพระนคร ด้วยทรงเห็นว่าอันนารีผู้มีใจมุ่งร้ายต่อผู้เป็นสามีก็คงต้องแพ้ภัยตนเอง มิอาจอยู่เป็นสุขได้นานแน่
ฝ่ายนางมัทนานั้นได้ทำพิธีบูชาเทพและวอนขอร้องให้สุเทษณ์จอมเทพช่วยนางด้วย สุเทษณ์นั้นก็ยินดีจะแก้คำสาปและรับนางเป็นมเหสี แต่นางมัทนาก็ยังคงปฏิเสธและว่าอันนารีจะมีสองสามีได้อย่างไร สุเทษณ์เห็นว่านางมัทนายังคงปฏิเสธความรักของตนจึงกริ้วนักสาปส่งให้นางมัทนาเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มิอาจกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป
เมื่อท้าวชัยเสนตามมาถึงในป่า นางปริยัมวะทาที่ตามมาปรนนิบัติดูแลนางมัทนาด้วยก็ทูลเล่าความทั้งสิ้นให้ทรงทราบ ท้าวชัยเสนจึงร้องร่ำให้ด้วยความอาลัยรักแล้วขอให้พระฤษีช่วย โดยใช้มนตราและกล่าวเชิญนางมัทนาให้ยินยอมกลับเข้าไปยังเวียงวังกับตนอีกครา
เมื่อพระฤษีทำพิธีแล้ว ท้าวชัยเสนก็รำพันถึงความหลงผิดและความรักที่มีต่อนางมัทนาให้ต้นกุหลาบได้รับรู้ จากนั้นจึงสามารถขุดต้นกุหลาบได้สำเร็จ ท้าวชัยเสนได้นำต้นกุหลาบขึ้นวอทองเพื่อนำกลับไปปลูกในอุทยาน และขอให้ฤษีกาละทรรศินให้พรวิเศษว่ากุหลาบจะยังคงงดงามมิโรยราตราบจนกว่าตัวพระองค์เองจะสิ้นอายุขัย พระฤษีก็อวยพรให้ดังใจ และประสิทธิประสาทพรให้กุหลาบนั้นดำรงอยู่คู่โลกนี้มิมีสูญพันธ์ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกที่กลิ่นอันหอมหวานสามารถช่วยดับทุกข์ในใจคนและดลบันดาลให้จิตใจเบิกบานเป็นสุขได้ ชาย-หญิงเมื่อมีรักก็จักใช้ดอกกุหลาบเป็นสัญญลักษณ์แห่งความรักแท้สืบต่อไป

คุณลักษณะเด่นของพระราชนิพนธ์ มัทนะพาธา   คือความงดงามในแง่วรรณศิลป์ เพราะ ฉันท์ เป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่แต่งให้ไพเราะงดงามได้ยาก ฉันท์เป็นรูปแบบการประพันธุ์ที่เราได้รับมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แต่คำไทยแท้มักเป็นคำโดยไม่มีลักษณะผสมหนักเบาอย่างบาลีและสันกฤต กวีไทยเมื่อแต่งฉันท์จึงมักต้องใช้ภาลีและสันสกฤตแต่งด้วย แต่บทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เรื่องนี้ได้ทรงใช้คำง่าย เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน ขณะเดียวกันก็ทรงรักษาฉันทลักษณ์ไว้ไม่ให้ผิด ยังผลให้รสคำและรสความมีทั้งความไพเราะและหมดจดงดงาม อย่างเช่นฉากปฏิญาณรักระหว่างท้าวชัยเสนกับมัทนาในยามรุ่งอรุณ
อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี
ประดุจมโนภิรมย์ระตี..... ณ แรกรัก
แสงอะรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์
แฉล้มเฉลาและโสภินัก..... นะฉันใด
หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย
สว่าง ณ กลางกมลละไม..... ก็ฉันนั้น
แสงอุษาสะกาวพะพราว ณ สรรค์
ก็เหมือนระตีวิสุทธิอัน..... สว่างจิต
อ้าอนงคะเชิญดำเนิรสนิธ
ณ ข้าตะนูประดุจสุมิตร..... มโนมาน
ไปกระทั่ง ณ ฝั่งอุทกจีระธาร
และเปล่งพจี ณ สัจจะการ..... ประกาศหมั้น
ต่อพระพักตร์สุราภิรักษะอัน
เสด็จสถิต ณ เขตอะรัณ -..... ยะนี่ไซร้
ว่าตะนูและน้องจะเคียงคระไล
และครองตลอด ณ อายุขัย..... บ่คลาดคลา
 
และยังมีอีกหลายบทที่คุ้นหูไพเราะงดงามอย่างยิ่ง เช่น
ความรักเหมือนโรคา...บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล...........อุปสรรคใดใด
ความรักเหมือนโคถึก.....กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดออกจากคอกไป........บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะผูกไว้..........ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง.........บ หวนคิดถึงเจ็บกาย
หรือ
ไร้ปิ่นดิลกราชย์ ละก็ชาติจะภินพัง
ไหนเลยจะคงตั้ง อิศะรานุภาพครอง
โลกเราสง่างาม ก็เพราะแสงตะวันส่อง
สิ้นแสงระวีต้อง มละทั่วนะฉันใด
อันปวงประชาเปรม ฤดีพึ่งพระเดชไท้
เดชดับก็มืดใน ฤดีหม่นละแน่นอน
ราตรีสว่างแจ้ง ก็เพราะแสงนิศากร
โกฎิ์ดาว ณ อัมพร ก็ บ่ เท่าพระจันทร์เดียว
อันว่าพระคุณเปรียบ วรโสมะนั่นเทียว
ไร้นาถะข้าเหลียว จะประสบพระเจ้าไหน