ในเทศกาลวันตรุษจีน ชาวจีนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญยิ่งกว่าวันใดๆ ในรอบปี โดยเฉพาะอาหาร ขนม ผลไม้ที่ใช้ในวันตรุษจีนจะเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุด ทั้งมีปริมาณความต้องการสูงสุดในรอบปี การเลือกสรรอาหารต่างๆ ต้องพิถีพิถันและคำนึงถึงความหมายของอาหารแต่ละชนิดด้วย และส่วนใหญ่จะมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งร่ำรวยของครอบครัว
ความเชื่อและความหมายของอาหาร. ขนม และผลไม้ที่ใช้ในวันตรุษจีน
ปลาทั้งตัว หมายถึง การอยู่ร่วมกัน ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้ เหมือนคำพูดว่า “อู่ฮื้ออู่ซึ้ง” ปลา ภาษาจีนออกเสียงว่า ฮิ้อ
ไก่ทั้งตัว ไก่ที่ใช้ต้องเป็นไก่ทั้งตัว ยังมีครบทั้งหัว ปีก และขาทั้งสอง ไก่เป็นตัวแทนของความเจริญก้าวหน้า หงอนไก่ จะสื่อถึงหมวกของขุนนางจีนสมัยก่อน อีกทั้งไก่ยังมีความหมายถึง ความตรงต่อเวลา เพราะไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะให้มีความรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
หมู จะหมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย เพราะความอ้วนของหมูแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ รายการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งตัวก็ได้ เพราะขนาดมันใหญ่เกิน ถ้าต้องใช้ทั้งตัวกันทุกบ้าน คงลำบากแย๋
ตับ ตับในภาษาจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า กัว ซึ่งเป็นความพ้องเสียงกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง
กุ้งมังกร ด้วยลักษณะของหัวใหญ่ มีก้ามอันใหญ่โตน่าเกรงขาม จึงใช้สื่อความถึง ความมีอำนาจ บารมี น่าเกรงขาม แต่เนื่องจากกุ้งมังกรหายาก จึงมีการดัดแปลงเปลี่ยนเป็น เป็ด สำหรับจีนแต้จิ๋ว เพื่อสื่อถึงให้มีมาก ความรู้มาก และ ปลาหมึกแห้งสำหรับจีนแคะ สื่อถึงให้มีความรู้มาก เป็นบัณฑิต
ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ สื่อถึง ฮื้อ หรือปลา คือให้เหลือกินเหลือใช้ อี๊ แปลว่า กลม ๆ หมายถึงความราบรื่น
ต้นกระเทียม คนจีนแต้จิ๋ว เรียกกระเทียมว่า สึ่ง พ้องเสียงกับ สึ่ง ที่แปลว่า นับ ต้นกระเทียม เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ ผัดต้นกระเทียมกับตับอร่อยมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นใครทำเลย
กุยช่าย กุยช่าย เป็นการพ้องเสียงของคำว่า กุ่ย แปลว่า แพง รวย เหมือนให้ค้าขายได้ราคา ได้เงินเยอะๆ
แกงจืด หรือที่คนจีนเรียกว่า เช็ง-ทึง เช็ง แปลว่า ใส หวาน ซดคล่องคอ น้ำแกงจืดจึงสื่อถึงให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น สดใส มึแต่ความหวานชื่น
เป๊าฮื้อ รายการนี้ก็อร่อยอีกละ เป๊า หรือ เปา แปลว่า ห่อ ส่วน ฮื้อ คือเหลือกินเหลือใช้ เป๊าฮื้อ ก็หมายถึง ห่อความมั่งคั่งเหลือกินเหลือใช้ไว้ให้ลูกหลาน
ถั่วงอก คนจีนแต้จิ๋วเรียก ถั่วงอก ว่า เต๋าแหง๊ แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า เต้าเหมี่ยว เหมี่ยว แปลว่า งอกงาม ถั่วงอกจึงใช้สื่อถึง ให้งอกงามรุ่งเรือง
เต้าหู้ เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็น เต้าฮก ก็ได้ ฮก คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า โตฟู ฮก หรือ ฟู แปลว่า บุญ ความสุข มีวาสนา ยกเว้น เต้าหู้ขาว ไม่นำมาใช้ในวันตรุษจีน เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่ไม่เป็นมงคลในวันตรุษจีน
สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ซึ่งออกเสียงคล้ายกับ ฮวดไช้ ก็แปลว่า โชคดี ร่ำรวย
เม็ดบัว มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
เกาลัด หมายถึง เงิน
ซาลาเปา คำว่า เปา แปลว่า ห่อ ซาลาเปา สื่อถึงการ เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน
ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม คือ ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
ขนมถ้วยฟูหรือขนมสาลี่ คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวกก้วย ฮวก แปลว่างอกงาม
ขนมเทียน หมายถึง หวานชื่น ราบรื่น เป็นกรวยแหลม ลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต คนจีนเรียกว่า หนึงก้วย ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต ขนมไข่ จึงสื่อถึงให้มีการเกิดและการเจริญเติบโต
ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง คือ ขนมแห้ง 5 อย่าง จะเรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง หรือ ขนม 5 สี ก็ได้ ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ฟักเชื่อม และข้าวพอง
- ฟัก เพื่อฟักเงินฟักทอง ฟักเชื่อม คือการฟักความหวานของชีวิต
- ข้าว ถั่ว งา คือ ธัญพืช ธัญญะ แหลว่า งอกงาม
ขนมอี๊ อี๊ หรือ อี๋ แปลว่ากลม ๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่ เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูก็ได้
ส้ม คนจีนแต้จิ๋วเรียกแบบชาวบ้านว่า กา แต่ส้มมีอีกคำเรียกว่า ไต้กิก ไต้ แปลว่า ใหญ่ กิก แปลว่า มงคล ไต้กิก จึงแปลว่า มหาสิริมงคล แต่ถ้าแปลง่าย ๆ แบบชาวบ้านก็คือ โชคดี
กล้วย จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง-เจีย เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้ แปลว่า ถึงเวลาโชคเข้ามา และ กล้วย มีผลมากมายเป็นเครือ จึงเป็นมงคลให้มีลูกหลานมาก ๆ มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
องุ่น จีนแต้จิ๋วเรียกว่า พู่-ท้อ . พู่ ก็คือ งอก หรืองอกงาม ท้อ ก็คือ พ้องเสียงกับลูกท้อ ที่เป็นผลไม้มงคล อายุยืน
สับปะรด คนจีนแต้จิ๋วเรียก อั้งไล้ แปลว่า เรียกสีแดงมา สีแดงเป็นสีของโชค ก็ประมาณว่าเรียกโชคเข้ามา คนจีนทางใต้นิยมสับปะรดมาก
แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติ สงบสุข
สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)